ในวันนี้ ตลาดมีบรรยากาศการซื้อขายที่ระมัดระวังแต่ยังคงมีแนวโน้มเชิงบวก โดยมีข่าวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนและความหวังเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนความเชื่อมั่น อย่างไรก็ดี ความกังวลเกี่ยวกับตลาดพันธบัตรของจีนที่ส่งสัญญาณถึงภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา รวมถึงความตึงเครียดทางการค้าและการเมืองระหว่างจีนและสหรัฐฯยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดก่อนการรายงานเหตุการณ์สำคัญในอีกทางหนึ่ง
โดยดอลลาร์สหรัฐฯดีดตัวขึ้นเล็กน้อยจากข้อมูลยอดค้าปลีกที่แข็งแกร่ง ขณะที่คู่เงินยูโร (EURUSD) ยังคงทรงตัว เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอจากสหภาพยุโรปและเยอรมนี ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับท่าทีสนับสนุนนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ Fed
คู่เงิน GBPUSD ทรงตัวแม้จะเกิดการดึงกลับของระดับราคาเล็กน้อย ขณะที่เทรดเดอร์ต่างกำลังรอการรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรหลังการรายงานข้อมูลการจ้างงานที่มีทิศทางเป็นบวก นอกจากนี้ คู่เงิน USDJPY ยังเผชิญกับแรงกดดันหลังแตะระดับสูงสุดในรอบสามสัปดาห์ โดยค่าเงินดอลลาร์ของออสเตรเลีย, ดอลลาร์แคนาดา และดอลลาร์นิวซีแลนด์อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบปี
ทั้งนี้ ราคาทองคำยังคงซบเซาหลังปรากฏสัญญาณขาลงทางเทคนิค ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่สาม แม้จะมีการลดปริมาณสินค้าคงคลังครั้งใหญ่ ซึ่งในอีกทางหนึ่ง ตลาดหุ้นยังขาดแรงผลักดัน และสกุลเงินดิจิทัลเกิดการดึงกลับจากระดับสูงสุดล่าสุด
คู่เงิน EURUSD ขยับตัวขึ้นเล็กน้อยภายในกรอบการซื้อขายรายสัปดาห์ แต่ยังขาดแรงส่งที่แข็งแกร่งในการปรับตัวสูงขึ้น โดยรายงานความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายปีจากเยอรมนี และยูโรโซน รวมถึงความไม่มั่นคงทางการเมืองในภูมิภาคยุโรปยังสร้างแรงกดดันต่อคู่เงินนี้เพิ่มเติม นอกจากนี้ ความคิดเห็นที่มีท่าทีสนับสนุนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และความกังวลเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่อาจช้าลงในปี 2025 ยังจำกัดการปรับตัวขึ้นของยูโรอีกด้วย ดังนั้น แม้ว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ถึงกระนั้น คู่เงิน EURUSD อาจปรับตัวขึ้นได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากการคาดการณ์เกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแกร่ง รวมถึงข้อมูลอัตราเงินเฟ้อและรายงานการจ้างงานในสหรัฐฯ จะทำให้ Fed ไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงในอนาคตได้
ต่างไปจากคู่เงิน EURUSD คู่เงิน GBPUSD กำลังได้รับแรงหนุนหลังจากมีการรายงานข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหราชอาณาจักรเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความหวังว่าข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรจะมีทิศทางเป็นบวกในวันพุธ ยังช่วยหนุนคู่เงิน Cable อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ท่าทีสนับสนุนการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และความกังวลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักร ยังคงจำกัดโอกาสในการปรับตัวสูงขึ้นของค่าเงินปอนด์
สำหรับคู่เงิน USDJPY ยังคงเผชิญแรงกดดันหลังจากเกิดการดึงกลับจากระดับสูงสุดในรอบสามสัปดาห์ โดยคู่เงินนี้ยังคงสะท้อนถึงภาวะที่อ่อนไหวต่อความเสี่ยงของตลาด ขณะที่ นักลงทุนยังให้น้ำหนักกับการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) แม้ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยใดๆตามที่คาดไว้ในปี 2024 ก็ตาม
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD), ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (NZD) และดอลลาร์แคนาดา (CAD) กำลังเผชิญกับแรงกดดัน เนื่องจากบรรยากาศการซื้อขายที่ระมัดระวังแม้จะมีแนวโน้มเชิงบวกในตลาดโลก ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับท่าทีสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ Fed และปัญหาที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในจีน โดยคู่เงิน AUDUSD และคู่เงิน NZDUSD ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปี ขณะที่ คู่เงิน USDCAD พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2015
นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนความแข็งแกร่งของคู่เงิน Loonie คือราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของแคนาดา และท่าทีผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางแคนาดา (BoC) โดยปัจจัยเหล่านี้ได้ผลักดันโมเมนตัมขาขึ้นคู่เงิน USDCAD แม้ภาวะการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในตลาดจะขยายในวงกว้างก็ตาม
ราคาทองคำยังคงเผชิญแรงกดดัน โดยอยู่ต่ำกว่าระดับแนวรับก่อนหน้าที่ระดับราคาทะลุลงมาเมื่อวันก่อน ซึ่งขณะนี้ทำหน้าที่เป็นแนวต้านที่ใกล้ที่สุด ราคาทองคำยังได้รับผลกระทบจากท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ Fed และความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของจีน อย่างไรก็ตาม เสน่ห์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยของทองคำ ประกอบกับความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากจีน และการเพิ่มปริมาณทองคำสำรองของธนาคารกลางจีน (PBoC) ยังเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนราคาและป้องกันไม่ให้ราคาทองคำปรับตัวลงมากกว่านี้
ในอีกทางหนึ่ง ราคาน้ำมันดิบต่างก็เผชิญแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ที่อ่อนแอและอุปทานที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของปริมาณสินค้าคงคลังน้ำมันรายสัปดาห์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลงเป็นวันที่สามติดต่อกัน ขณะที่ นักลงทุนหันไปจับตามองการประกาศนโยบายจากคณะกรรมการ FOMC และการรายงานข้อมูลปริมาณสินค้าคงคลังน้ำมันดิบอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ เพื่อหาทิศทางต่อไป
Bitcoin (BTCUSD) ยุติการพุ่งสูงขึ้นติดต่อกันสามวัน โดยเกิดการดึงกลับจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ล่าสุด ในทำนองเดียวกัน Ethereum (ETHUSD) ยังคงเผชิญแรงกดดันหลังจากพลิกกลับจากระดับสูงสุดในรอบหลายปีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สกุลเงินดิจิทัลทั้งสองยังสะท้อนถึงความระมัดระวังในตลาด ขณะที่ นักลงทุนรอการตัดสินใจเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจาก Fed และมองหาความเคลื่อนไหวเชิงบวกในอุตสาหกรรม ซึ่งรวมไปถึงการสนับสนุนจาก Donald Trump
ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อจากสหราชอาณาจักร, ยูโรโซน และตัวเลขที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯจะมีการเปิดเผยก่อนการประกาศนโยบายสำคัญของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แต่ข้อมูลเศรษฐกิจเหล่านี้อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดมากนัก เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ Fed แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ก็ตาม โดยตลาดยังคาดการณ์อีกว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯจะแข็งแกร่งขึ้น และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2025 จะชะลอออกไป ซึ่งอาจช่วยหนุนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯให้แข็งค่าขึ้นได้
หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น คู่เงินยูโร (EURUSD) อาจเผชิญกับแรงกดดันขาลงเพิ่มเติมเนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในยูโรโซน ในขณะที่ ราคาทองคำอาจมีการปรับตัวลดลงทางเทคนิคต่อไป โดยมีเป้าหมายไปที่แนวรับที่ประมาณ $2,633 ส่วนคู่เงิน AUDUSD และคู่เงิน NZDUSD มีแนวโน้มแตะระดับต่ำสุดใหม่ในรอบหลายปี ขณะเดียวกัน คู่เงิน USDCAD อาจปรับตัวสูงขึ้นอีก ซึ่งในอีกทางหนึ่ง คู่เงิน GBPUSD และคู่เงิน USDJPY อาจมีความผันผวน และราคาน้ำมันดิบอาจกลับไปแตะที่ระดับต่ำสุดในรอบสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯอย่างไม่คาดคิดมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นๆ เนื่องจากความสนใจของตลาดจะหันไปที่ข้อมูลตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 3 ของสหรัฐฯในวันพฤหัสบดี และการรายงานดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Core PCE Price Index) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ Fed ให้ความสำคัญในวันศุกร์
ขอให้คุณโชคดีในการเทรด!